แอบคุยกับแมน ละอองฟอง ผู้อยู่เบื้องหลังเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย

37K View

La ong Fong

เบื้องหลังเนื้อเพลงติดหู ‘แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ’ จากปลายปากกาของ แมน La Ong Fong

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่เคยเห็นหรือไม่เคยได้ยินชื่อเกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่ BNK48 แถมยังมีเพลงติดหูอย่าง คุกกี้เสี่ยงทาย กับท่อนจำ ‘แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ’ ที่ฟังครั้งเดียวก็ร้องตามได้แล้ว อย่างที่หลายๆ คนทราบ ว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ถูกแปลมาจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า แมน - ตนุภพ โนทยานนท์ หรือ แมน มือกีต้าร์ของวง La Ong Fong เป็นคนเขียนเนื้อเพลงเวอร์ชั่นภาษาไทย ผู้อยู่เบื้องหลัง Earworm (เนื้อเพลงติดหู ที่ทำให้เราฮัมเพลงนั้นออกมาแบบไม่รู้ตัว) ที่แท้จริง!!!

365 วันกับเครื่องบินกระดาษ เป็นเพลงที่อุปสรรคเยอะสุด เพราะเป็นเพลงแรกๆ แล้วเรายังไม่รู้ว่าแนวทางของทางญี่ปุ่นกับเราควรเจอกันตรงไหน

1

จะเรียกว่าไม่ถนัด หรือไม่สันทัดในเรื่องของน้อง BNK48 ก็ว่าได้ แม้ว่าทางเราทำการบ้านหาข้อมูลของน้องๆ กลุ่มนี้มาบ้างแล้ว แต่ก็ยังกลัวว่าจะไม่เข้าใจเลยขอให้ ‘ครูแมน’ เล่าเรื่องราวคร่าวๆ ให้ฟังก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าทางเราเข้าใจไม่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด ><


เล่าหน้าที่และเรื่องของ BNK48 คร่าวๆ ให้ฟังหน่อย

แมน : ตอนนี้เราเป็น Co-Music Director ของวง BNK48 ครับ เด็กๆ จะเรียกว่า ครูแมน ส่วนพี่เอ๊ะ (La Ong Fong) เป็น Music Director หรือทุกคนจะเรียกว่าครูใหญ่ครับ แต่ถ้าเป็นทีมงานทางญี่ปุ่นจะเรียกเราว่า Thai Music Director มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับงานผลิตผลงานเพลงและเนื้อร้องในประเทศไทย วงเกิร์ลกรุ๊ปต้นฉบับ คือ AKB48 วงไอดอลเด็กผู้หญิงที่มีดนตรีหรือเพลงเป็นส่วนเชื่อมระหว่างตัวไอดอลกับแฟนคลับ ซึ่งทาง AKB48 สร้างมากว่า 10 ปีแล้ว และโด่งดังในญี่ปุ่นมาก จนขยายฐานแฟนคลับไปเรื่อยๆ จาก AKB48 ก็ย้ายไปตามเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่น โดยใช้ตัวย่อของเมืองนั้นๆ และลงท้ายด้วยนามสกุล 48 ทั้งหมด กระแสตอบรับดีมาก จนมาถึงประเทศไทยเรานี่แหละ! เราก็ได้เป็น BNK48 ย่อมาจากชื่อเมืองหลวง Bangkok


เข้ามามีส่วนร่วมกับโปรเจ็คนี้ได้ยังไง?

แมน : เริ่มมาจากเราเคยทำเพลงให้กับซีรี่ส์ “คิวชู แล้วพรุ่งนี้..เราคงจะรู้กัน!” (SanQ Band แดน วรเวช - เอ๊ะ ละอองฟอง) ร่วมกับ โรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ เมื่อเป็นเรื่องดนตรีทาง โรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ ก็นึกถึงเรา พอถึงเวลาที่เขาจะทำ BNK48 ในประเทศไทย เขาก็มองเห็นว่าละอองฟองมีพื้นฐานไปทางเดียวกับ BNK48  คือมีนักร้องเป็นผู้หญิง แล้วเรื่องดนตรี เรื่องแนวคิดในการทำเพลงด้วย เขาเลยบอกว่าไม่ได้นึกถึงใครเลยนอกจากแมนกับเอ๊ะ เราเลยมีโอกาสได้เข้ามาทำงานตรงนี้ เราจะดูแลในพาร์ทของเนื้อเพลงภาษาไทย การผลิตงานเพลง และการสอนให้เมมเบอร์ร้องเพลง ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องคัดเลือกน้องๆ เราก็ช่วยดูบ้าง แต่เรื่องคอนเซ็ปทางผู้บริหารเป็นคนคิดทั้งหมด


สิ่งที่สนุกกับการทำงานแบบนี้คือเราจะได้ภาษาใหม่ๆ เรื่องราวใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเล่า พอมันลงตัวปั๊บก็แอบภูมิใจ เห้ย! ก็เขียนก็ได้นี่ มันก็ลงได้นี่หว่า

2

เพลงแรกที่เขียนให้ BNK48

แมน : ต้องใช้เวลานึกแป๊บนึง (หยุดคิด) ถ้าจำไม่ผิดคือ 365 วันกับเครื่องบินกระดาษ กับ ก็ชอบ ให้รู้ว่าชอบ สองเพลงนี้น่าจะมาพร้อมๆ กัน แต่เพลง 365 วันกับเครื่องบินกระดาษ เป็นเพลงที่อุปสรรคเยอะสุด เพราะเป็นเพลงแรกๆ แล้วเรายังไม่รู้ว่าแนวทางของทางญี่ปุ่นกับเราควรเจอกันตรงไหน


สิ่งที่ต้องทำในการเขียนเพลง


แรกๆ เราจะเขียนแบบจับใจความแล้วมาเรียบเรียงเองใหม่ ซึ่งทางญี่ปุ่นไม่เห็นด้วย เพราะเขาอยากให้เนื้อเพลงใกล้เคียงต้นฉบับที่สุด แปลบรรทัดต่อบรรทัดได้เลยจะดีมาก ตอนนั้นเราพยายามลองแล้ว แต่พอฟังดูไม่ใช่ทางคนไทยเท่าไหร่ เราก็เลยพยายามต่อรองกับทางญี่ปุ่นว่า อาจจะแปลบรรทัดต่อบรรทัดไม่ได้ แต่ขอเป็นเล่าเรื่องทั้งหมดในนั้นแทนได้ไหม แล้วก็ลองทำไปให้เขาฟัง เขาก็ยอม แต่เรื่องของเมโลดี้และพยางค์ต่างๆ ต้องเหมือนเป๊ะ 100% ห้ามเปลี่ยน จะมาเป็นไทยร้อง 3 พยางค์ แต่ญี่ปุ่นร้อง 5 พยางค์ไม่ได้ เราเคยลองเปลี่ยนเมโลดี้แล้วส่งไปให้เขาดูเหมือนกันนะ เขาก็วงกลมสีแดงกลับมาเลย “ตรงนี้ไม่ได้” โห…ละเอียดมาก


แสดงว่าการเขียนเนื้อเพลงภาษาไทยค่อนข้างมีข้อจำกัด?

แมน : ทุกอย่างๆ แหละ ภาษาไทยเป็นภาษาที่แต่งเพลงยากที่สุดแล้ว เพราะบางทีวรรณยุกต์ไม่ได้ แต่ก็อยู่ที่ว่าเรายอมรับการเพี้ยนได้มากแค่ไหน บางคำที่เพี้ยนเหน่อมากเราก็ไม่ปล่อยผ่าน แต่ตอนนี้พยายามทำให้ถูกต้องที่สุด ไม่ให้ภาษาไทยวิบัติ และให้ตรงตามความหมายมากที่สุด เรียกได้ว่าเพลงแรก คือเพลง 365 วันกับเครื่องบินกระดาษ เป็นเพลงที่อุปสรรคเยอะ แก้มา 3 - 4 รอบ ถึงจะลงตัว


วิธีเขียนเพลงให้ BNK48 กับวิธีการทำเพลงแบบที่ผ่านมาเหมือนหรือต่างกันยังไง?

        แมน : วิธีการนำเสนอก็ต้องใช้หลักที่เป็นมาตรฐานในการเขีนเพลง ในการเล่าเรื่อง คือใช้คำให้คนฟังเข้าใจมากที่สุด ไม่ยืดยาวจนเกินไป แต่การเล่าเรื่องระหว่างเรากับญี่ปุ่นไม่เหมือนกันเลย เพราะเพลงเขาเป็นพรรณาโวหาร เหมือนเป็นเพลงเพื่อชีวิต คือเล่าไปเรื่อยๆ เลย  1 2 3 ไปถึง 10 จบ แต่ถ้าเป็นของไทยคือ  1 2 3 2 3 วนไปๆ แค่นี้เอง

        การเขียนเพลงที่มาจากญี่ปุ่นมันยากกว่าตรงที่เรื่องราวที่ไม่คุ้นเคย เราต้องทำความเข้าใจก่อน คือไม่ใช่จริตที่เราทำ แต่เราต้องไปเข้าใจอินเนอร์เขาก่อนว่าความหมายเขาเป็นแบบนี้  ไปตามเขาก่อนแล้วค่อยมาเขียนในแบบเรา แต่กับเพลงไทยเรารู้อยู่แล้วว่าคนไทยฟังเพลงแบบนี้ แนวทางการเขียนเพลงของเราก็จะชัดขึ้น


สรุปแล้วโจทย์การทำเพลงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยยากไหม?

แมน : เรียกว่าท้าทายดีกว่า เหมือนภาษาบ้านเราที่บางคำไม่เคยใช้ก็ได้ใช้ จะมีบางช่วงที่ลองใช้คำใหม่ๆ ลองใช้คำนี้ดูซิ มันอาจจะดีก็ได้ บางคำมันใช้แล้วอาจจะดูตลกก็ลองดู ลองใช้ไปก่อน คิดแบบนี้เลย สิ่งที่สนุกกับการทำงานแบบนี้คือเราจะได้ภาษาใหม่ๆ เรื่องราวใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเล่า พอมันลงตัวปั๊บก็แอบภูมิใจ เห้ย! ก็เขียนก็ได้นี่ มันก็ลงได้นี่หว่า (หัวเราะ)


วิธีเขียนเพลงแบบแมน

    เขียนก่อนว่าจะเล่าเรื่องอะไร โดยไม่คำนึงถึงว่าทำนองคืออะไร เหมือนเขียนเรื่องย่อ ลองอ่านดูก่อนว่า

1) เพลงนี้เป็นมายังไง 2)เนื้อเรื่องมีอะไรบ้าง 3)สรุปเรื่องราวให้ได้

อย่างน้องโมบาย ที่เป็นเซ็นเตอร์เพลงคุกกี้เสี่ยงทาย เราว่าลงตัวนะ เพราะเสียงน้องเหมาะกับเพลงนี้ ไม่โตไปไม่เด็กไป มีความไร้เดียงสาอยู่ในน้ำเสียงกำลังดีเลย



3

“แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ” มาจาก?...

แมน : จริงๆ เนื้อเดิมมันคือ ‘แอบมองเธออยู่นะนะ แต่เธอไม่รู้บ้างเลย แอบส่งใจให้นิดนิด แต่ดูเธอช่างเฉยเมย’ ตั้งใจจะเล่นคำ นะนะ นิดนิด แต่ ‘นะจ๊ะ’ น่ารักกว่า ผู้หญิงร้องจะดูน่ารัก แล้วผู้ชายร้องก็ได้ เป็นคำลงท้ายที่ใครก็ร้องได้ ฟังแล้วดูไร้เดียงสาดี

คุกกี้เสี่ยงทาย เป็นเพลงที่เล่าเรื่องว่า ฉันแอบชอบเธออยู่ แต่เธอไม่สนใจ มีคนหน้าตาดีกว่าฉันเยอะแยะเลย ฉันก็ไม่รู้ว่าฉันจะได้เป็นหนึ่งในใจเธอหรือเปล่า ก็บรรยายความของเค้าไป แล้วก็ให้คุกกี้เป็นตัวทำนายโชคชะตาว่าวันนี้จะเป็นยังไง เราก็อ่านความหมายไปเรื่อยๆ ว่าเพลงต้องการจะสื่ออะไร ดังนั้นต้องหาคำอะไรก็ได้ให้เป็นบทสรุป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรักอะไรก็แล้วแต่ แต่คุกกี้มันจะเป็นตัวทำนายโชคชะตา ต้องหาคำตีหัวขึ้นมาก่อน แล้วทำให้คนฟังเพลงนี้ได้ยินคำว่า คุกกี้

เริ่มต้นเราก็แต่งตามคำแปลญี่ปุ่นก่อน สุดท้ายมันไม่รู้เรื่อง พี่เอ๊ะเลยแนะนำว่า เอาใหม่ เล่าเรื่องใหม่ ให้กระชับขึ้นโดยอธิบายว่า เรากำลังชอบใครคนหนึ่ง กำลังสับสนว่าเขาชอบเรารึเปล่า มาให้คุกกี้ทำนายกัน นี่คือประเด็นของเพลงที่ต้องบอกให้ได้ว่าคุกกี้จะทำนายให้


ใครเป็นคนแบ่งท่อนร้องของแต่ละเพลง?

แมน : เรื่องการแบ่งท่อนทางญี่ปุ่นจะเป็นคนวางมาให้เลย ขึ้นอยู่กับบล็อคกิ้งการเต้นด้วย ว่าท่อนนี้ใครเป็นคนร้องใครยืนตรงไหนเขาจะเขียนไว้เลย เราแค่เอาของเขามาแมชกับที่เราได้วางตำแหน่งของเราเอาไว้ว่า คนไหนจะได้ร้องท่อนไหน

แต่ถ้าน้องร้องไม่ได้จริงๆหรือท่อนๆนั้นไม่เหมาะสมกับน้อง เราก็จะคุยกับครูสอนเต้นว่าจะสลับกับคนนู้นได้ไหม บางทีครูสอนเต้นเขาจะแย้งมาว่าน้องคนนี้สรีระไม่ได้นะ ถ้าย้ายมายืนจุดนี้คงไม่เหมาะ ก็ต้องคุยกัน ต้องเน้นเรื่องบลอคกิ้งก่อน ผ่านมาเยอะกว่าจะมาถึงจุดนี้ เพลงๆ หนึ่งมันหลายอย่างเลยกว่าจะออกมา


ตอนที่เขียนเพลงวางไว้เลยไหมว่าท่อนไหนอยากให้ใครร้อง

แมน : ไม่เลย เราจะเขียนไปก่อนตามความถูกต้อง ตามประเด็นที่เขาต้องการจะสื่อ เขียนเสร็จแล้วก็จะอ่านเนื้อ ลองร้องดู ก็จะนึกหน้าน้องว่าคนนี้ว่าเหมาะไหม ก็มีบ้างที่วางเสียงน้องไว้ แต่ลงกับบล็อคกิ้งเต้นไม่ได้ เราก็ต้องดูตามความเหมาะสมโดยรวม มองภาพด้วย มองเสียงด้วย เพราะบางทีคนดูก็ดูภาพเป็นหลัก บางคนตัวสูงไปอยู่กับคนที่เตี้ยกว่าก็จะดูไม่สวย มีทะเลาะบ่อยๆ กับบรรดาครูนี่แหละ (หัวเราะ) แต่เพื่อให้ภาพในท่อนนั้นๆ ออกมาสวยงาม เราก็ต้องยอม ต้องมองภาพรวมเป็นหลัก อย่างน้องโมบาย ที่เป็นเซ็นเตอร์เพลงคุกกี้เสี่ยงทาย เราว่าลงตัวนะ เพราะเสียงน้องเหมาะกับเพลงนี้ ไม่โตไปไม่เด็กไป มีความไร้เดียงสาอยู่ในน้ำเสียงกำลังดีเลย


หมายความว่าต้องเริ่มมาจากบล็อคกิ้งก่อนเลย?

แมน : ใช่ครับ ครูเต้นจะดูบล็อคกิ้งเป็นหลัก ดูเต้นสวยก่อน แล้วค่อยมาดูเรื่องการร้องทีหลัง เลยจะยากเราหน่อย (หัวเราะ) บางทีถ้าไม่ไหวจริงๆ เราก็ต้องบอกก็ต้องเอาคนนั้นมาสลับตำแหน่งกันนะ ก็จะมีกระบวนการคิดที่มากขึ้น ถามว่ายากไหมก็ยาก แต่ที่ยากกว่าคือน้องมีทักษะไม่มากพอ ต้องฝึกฝนให้มากขึ้น เราก็ตีกลับไปกลับมา ร้องเต้นร้องเต้นจนกว่าจะลงตัว ถ้าร้องรวมไม่เท่าไหร่ เพราะช่วยๆกันและแบ่งร้องคนละท่อนอยู่แล้ว แต่จะยากตอนร้องคนเดียว อยู่ในห้องอัด อัดเป็นสิบรอบยี่สิบรอบก็มี เราก็ต้องฝึกให้น้องเขาทักษะดีขึ้น


สอนน้องร้องเพลงด้วยรึเปล่า?

แมน : ไม่เชิงครับ ปกติจะมีครูที่สอนร้องเพลงอยู่แล้ว สอนทักษะล้วนๆ เลย การออกเสียง การหายใจ การใช้เสียง การบังคับเสียงต่างๆ ที่เป็นพื้นฐาน แต่เราจะสอนเป็นคลาสๆ ไป เช่น ถ้ามีเพลงใหม่ เราจะเป็นคนลงรายละเอียดว่าร้องยังไง อารมณ์ในการร้องต้องไปทางไหน หรือเทคนิคในการร้อง อย่างน้องร้องไม่ตรงคีย์ เราก็ต้องสอน หาเทคนิคต่างๆมาช่วย หาคาแรกเตอร์ของเขาออกมาให้ได้ เรื่องทักษะบางคนอาจจะเก่งอยู่แล้ว แต่ว่าเราต้องจับจุดนั้นให้เจอและหยิบออกมาใช้งาน ถ้าสิ่งที่เขามีเหมาะกับเพลงก็จะดีมากๆ แต่บางทีมันไม่ได้ก็จะต้องเทรนกันไป เพราะจะให้เด็กทุกคนร้องเก่งกันหมดก็คงเป็นไปไม่ได้


มีโปรเจ็กส่วนตัวที่ทำเล่นๆ เป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ เขียนตามใจตัวเองก็มี ชื่อว่า “roMANtic”


นอกจากโปรเจ็ก BNK48 มีโอกาสทำเพลงตัวเองบ้างไหม?

แมน : มีโปรเจ็กส่วนตัวที่ทำเล่นๆ เป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ เขียนตามใจตัวเองก็มี (หัวเราะ) ชื่อว่า “roMANtic” ทำให้เพื่อนเราและคนที่ฟอลโล่เราได้ฟัง แต่อื่นๆ ก็มีบ้างอย่างตอนนี้มีโปรเจ็กของพี่เอ๊ะ การทำเพลงของพี่เอ๊ะก็มาจากความต้องการของพี่เอ๊ะ จากนี้ถ้าเราอยากทำงานเพลงใหม่ๆ เราก็ไม่ต้องสนใจแล้วว่าคำแปลกๆ ที่มันจะใช้ในเพลงไม่ได้ เราก็เขียนได้เลย เขียนๆๆ เราจะพยายามไม่คิดว่าทำนองนี้ต้องร้องคำนี้ แต่จะเขียนก่อนว่าจะเล่าเรื่องอะไร แล้วหยิบเอาคำเด็ดในนั้นมาใช้ในเพลง แต่นี่เป็นหลักการทำงานของเราคนเดียวนะ (หัวเราะ)


roMANtic

แมน : ภาพจำเราเป็นผู้ชายสายอบอุ่น ทำอะไรละมุนๆ เลยคิดว่า คำว่าโรแมนติกเหมาะกับเรา แล้วก็มีชื่อเราด้วย เป็นโปรเจ็กที่ทำจากตัวเรา 100% อาจจะเป็นเพลงที่ไม่ค่อยสนใจการตลาดเท่าไหร่ (หัวเราะ) อย่างเพลงแรกๆ ที่ปล่อยไป ก็เป็นเพลงแบบยุค 80s อย่างที่เราชอบ อยากเขียนและเรียบเรียงแบบนั้นอีกครั้ง แต่เด็กๆ อาจจะไม่ชอบก็ได้ แต่คนในยุคเราชอบแน่ แล้วก็เขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก ของเรา ของคนรอบข้างทั้งหมด ก็ปล่อยเพลงในชาแนลของตัวเองนี่แหละ ให้คนที่ติดตามเราได้ฟังแล้ว หรือในอินสตาแกรมก็มีแฮชแท็ก #ro_man_tic เก็บเรื่องราวที่เราไปเจอไว้ในนั้น เป็นที่มาที่ไปของแต่ละเพลง เหมือนเป็นบันทึกของเราแต่บันทึกโดยการทำงานเพลงโดยตัวเรา


งานอื่นๆ

แมน : เพลงโฆษณาก็มีครับ เพลงประกอบละคร/ ซีรี่ส์ เร็วๆ นี้ก็มีเพลงประกอบซีรีส์ ‘I Sea You’ พี่ทำดนตรีทั้งหมด แล้วก็มี ว่าน (ธนกฤต พานิชวิทย์) เขียนเนื้อ แต่ตอนนี้ชีวิตประมาณ 70-80% ก็อยู่กับ BNK48 (หัวเราะ) จะมีงานทำกับเขาตลอด มีคลาสสอนทุกอาทิตย์ แล้วก็ต้องอยู่ในห้องบันทึกเสียงกับเขา ซึ่งเพลงจะมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ ปีที่แล้วประมาณ 5-6 เพลง แต่ปีนี้จะเข้ามาอีก 10 กว่าเพลง


ฝากอะไรถึงแฟนเพลงที่ตอนนี้ “แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ” ติดปากติดหูกันทั้งประเทศ

แมน : ดีใจมากๆ ที่ทำไปแล้วมีคนเข้าใจ อยากฝากผลงานเรา ฝากผลงานและฝากติดตามน้องๆ BNK48 ด้วย เชื่อว่าเพลงต่อไปจะมีมุมมองอื่นๆ อีก ซึ่งไม่ซ้ำเดิมแน่นอน ขอบคุณทุกคนที่ชอบ “แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ” ครับ

เรื่อง พัชริดา สุพรรณชนะบุรี, จรัตพร โมรา 

0 comments
Other Magazine
or